วันที่ 7 ตุลาคม 2566 งานเทศกาลการศึกษา FutureEd Fest 2023 มีกิจกรรม Panel Discussion ที่น่าสนใจ เพราะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเมืองไทยและเมืองนอกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้ Maker Education และทักษะอนาคต ดังรายละเอียดหัวข้อการแลกเปลี่ยนช่วงที่ 2
“การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์: Maker Education เปลี่ยนแปลงการศึกษา”
โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ Ms. Lee Pin Qi COO & Chief Learning Officer, Edm8ker, Singapore / ผศ.ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ Program Manager-STEM Resources and Capacity Building / คุณณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กร ชวนพูดคุย โดย คุณMark Cox Volunteer and Advisor for Starfish Education Foundation
คำถามที่ 1: Maker Education คืออะไร และทำไมจึงมีความสำคัญต่อการศึกษา
คุณบุรินทร์ : Maker Education คือ รูปแบบของการเรียนที่ลงมือทำ นักเรียนเป็นผู้ทำ และครูเป็นผู้สอน เป็นคนช่วยให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จได้ Maker Education จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของการศึกษา
คุณณิชา : Maker Education ให้อะไรกับผู้เรียนผ่านมุมมองของคนเป็นแม่ 3 เรื่อง 1) สร้าง Self-Esteem
ลูกชายคนเล็กชอบรามเกียรติ์มาก เขาได้ประดิษฐ์ธนู และเขารู้สึกภูมิใจมากเพราะเขาได้สร้างอะไรได้ด้วยมือของเขาเอง การเรียนรู้แบบนี้สร้าง Self-Esteem ของผู้เรียน 2) ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กสัมผัสสิ่งต่างๆ ซึ่งมีงานวิจัยได้บอกว่าการใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆ จะช่วยพัฒนาสมองได้ 3) สื่อสารได้ด้วยการสร้าง เช่น โรงเรียนบ้านปลาดาวที่มีเด็กหลากหลายชาติพันธุ์ บางคนอาจสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ แต่เราเข้าใจเขาจากการเห็นผลงานสร้างสิ่งต่างๆจากที่เขาสร้าง
คุณ Lee Pin Qi : Maker Education เกิดจากแนวคิด Construction Approach คือการเรียนรู้ด้วยการสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ตรง แต่ Maker Education ให้ความหมายมากกว่าการลงมือทำ แต่เป็นการให้โอกาสเด็กมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่อยากทำ และเลือกว่าเขาจะทำอย่างไร และสำคัญมากคือการให้พื้นที่เรียนรู้ และเด็กจะอยากเรียนรู้ต่อไปในอนาคตด้วยตนเอง
คำถามที่ 2: การนำทักษะที่ได้จาก Maker Education เพื่อการเตรียมรับมือในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนจะเป็นอย่างไร
คุณณิชา : ทัศนคติ หรือชุดความคิด/ความเชื่อ ที่นักเรียนจะได้รับจากการเรียนรู้แบบ Maker Education คือสิ่งที่สำคัญมาก เช่น การเชื่อว่าเราจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเรียนรู้ของตัวเอง และ การแลกเปลี่ยน ซึ่งนำไปสู่วัฒนธรรมแบบ open sourcing (การให้ข้อมูลแก่กันและกัน ที่ทำให้วิทยากรต่างๆ ก้าวหน้า และได้รับ feedback กลับมาว่ามันดีหรือไม่ดี ก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยพัฒนานวัตกรรมได้ ต่อมาคือ ทัศนคติต่อนวัตกรรม ซึ่งมันมีความหมายที่กว้างกว่านั้น จากที่เคยคิดว่าจะต้องเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ มันอาจเป็นอะไรที่ปรับเล็กปรับน้อย แต่จะช่วยสร้างนวัตกรรมที่ใหญ่ขึ้นได้
คุณ Lee Pin Qi : เป็นเรื่องที่ยากจะเดาว่าอาชีพในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เรารู้ว่าอาชีพในอนาคตคนจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้น เราจำเป็นต้องฝึกทักษะในระยะเวลาสั้น เมื่อก่อนจำนวนการผลิตจะสำคัญกว่าคุณภาพของการผลิต แต่ในอนาคตคุณภาพของการผลิตจะสำคัญกว่าจำนวนของการผลิต นอกจากนี้ Maker Education จะช่วยให้เด็กมีทักษะของการเป็นมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่แค่ทักษะด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว เด็กต้องคิดเร็วและหาทางแก้ปัญหาให้แก่ตัวเองได้
คุณบุรินทร์ : ทักษะในการหาข้อมูลสำคัญมากสำหรับยุคนี้ และจะต้องวิเคราะห์ได้ด้วยว่าจริงแค่ไหน ผู้ใช้ต้องฉลาดกว่า AI ดังนั้น การเรียนการสอนที่พัฒนาทักษะผู้เรียนควบคู่กับความแม่นยำทางวิชาการเป็นเรื่องที่ครูต้องพัฒนาไปควบคู่กัน เราต้องใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเนื้อหาการสอน คุณครูต้องสร้างกิจกรรม ที่ช่วยให้นักเรียนแก้ปัญหาได้ เขาจะสนุกกับปัญหา ซึ่ง Maker Education จะช่วยในเรื่องนี้มาก
คุณณิชา : Maker Education เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะต้องนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบท เราอาจติดภาพจำว่า มันจะต้อง Hi-tech , ต้องใช้ 3D printer ซึ่งไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้เสมอ เราต้องนึกถึงทุนทางวัฒนธรรมของประเทศเราด้วย ถ้าเราเชื่อมองค์ความรู้แบบนี้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ อีกอย่างคือ เราต้องยอมรับว่า บริบทการเรียนรู้ในประเทศไทยค่อนข้างเป็นปลายปิด มีตัวชี้วัดมากมายที่จะต้องสอนให้ครบ การนำ Maker จะท้าทายการสอนของครูมากๆ เพราะฉะนั้น ครูอาจจะต้องก้าวข้ามความท้าทายเดิม หรือภาพจำเดิม เพื่อสร้าง Maker Education แบบใหม่ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนประเทศไทย
กิจกรรม Panel Discussion ช่วงที่ 2 ในหัวข้อ “การเรียนรู้ที่สร้างสรรค์: Maker Education เปลี่ยนแปลงการศึกษา” ช่วยเปิดมุมมองให้ผู้เข้าร่วมได้หลักคิดและแนวทางการนำ Maker Education มาใช้ในประเทศไทยได้อย่างเหมาะสม และช่วยให้คุณครูและนักเรียนเกิดสมรรถนะที่จำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในโลกอนาคต
コメント