คุณครู นักการศึกษา อาจารย์ จะรับมืออย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมตนเอง และผู้เรียนเข้าสู่ตลาดการทำงาน ท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ขอเชิญรับฟังความเห็น และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ซึ่งมีประสบการณ์ทางด้านการศึกษา ถือว่าเป็นผู้นำการศึกษา
1. รองศาสตราจารย์ธีรภัทร กุโลภาส คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
2. ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา กสศ.
3. คุณดำรง มาตี๋ ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพุทธิโศภน
มาไขคำตอบไปพร้อมกันผ่านบทความนี้ ในหัวข้อ พลิกโฉมการศึกษา เสริมทักษะนักการศึกษาเพื่ออนาคตที่พร้อมเปลี่ยนแปลง
ครูกับการตั้งรับการเปลี่ยนแปลง
อาชีพครูไม่เพียงแค่สอน แต่ยังมีเรื่องงานเอกสารเข้ามาเกี่ยวข้อง จำนวนเยอะมาก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพด้านการทำงาน ให้ครอบคลุมทุกฟังก์ชัน เช่น Word หรือ Excel จะทำให้จัดการเอกสารเร็วขึ้น และเอาเวลาที่เหลือไปพัฒนาผู้เรียน
เทคโนโลยีจะเดินหน้าไปเรื่อยๆ เราไม่สามารถที่จะวิ่งตามทัน เพียงแต่เราต้องตั้งสติ มองหาเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ให้กับลูกศิษย์ ต้องดูบริบท และหน้างาน ประเมินตัวเราก่อน นักเรียนของเรา สิ่งแวดล้อม เพราะเทคโนโลยีสำหรับโรงเรียนที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป
ผู้บริหารโรงเรียนต้องโน้มน้าวให้ครูหันมาสนใจเทคโนโลยี ปรับ Mindset ให้ทุกคนในโรงเรียน มองเห็นว่าเทคโนโลยีคือสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เราต้องนำมาใช้บริหารจัดการศึกษาให้เทียบเคียงกับโรงเรียนมาตรฐานของโลก และต้องมีทักษะเรื่องของการใช้เทคโนโลยี
สร้างผู้เรียนไม่หวั่นเทคโนโลยี
เพราะการมีเทคโนโลยีมากหน้าหลายตา ทักษะการแก้ปัญหาคิดวิเคราะห์จึงสำคัญ ต้องมีการวิเคราะห์สังเคราะห์ว่า เทคโนโลยีนี้มีประโยชน์และสำคัญจริงๆ ในการจัดการเรียนการสอน
ทักษะความคิดสร้างสรรค์ของนวัตกรที่สามารถหยิบจับเทคโนโลยีเหล่านี้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพในอนาคต พัฒนาองค์กรต่างๆ
พลเมืองที่ดีในโลกเทคโนโลยี Citizenship จะทำยังไงให้ผู้เรียนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเทคโนโลยี รู้ทัน Fake News พยายามหาโจทย์ เคสกรณีศึกษา มาคุยกับผู้เรียน ทำให้เขาอยู่ในโลกของดิจิทัล อยู่อย่างมีสุขภาวะที่ดี
สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และพัฒนาของนักการศึกษาไทย
ครูเป็นอาชีพที่ค่อนข้างยุ่ง เขาอาจจะไม่มีเวลาที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องมีกลไกให้ครูอยากจะเรียนรู้ ในเชิงนโยบาย สพฐ. สามารถตั้งกลไกในการคัดเลือกครูเพื่อเลื่อนตำแหน่ง โดยดูจากการลงเรียนคอร์ส เกียรติบัตรต่างๆ และอีกส่วนผู้บริหารโรงเรียนควรสนับสนุนให้ครูมาเรียนโปรแกรม ช่วยให้เขาทำงานได้ดี
สูตรของการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับครู 70/20/10 อ้างอิงจาก อาจารย์หมอวิจารณ์ 70% ของการพัฒนาตนเองอยู่ที่โรงเรียน ครูทุกคนทำงานเจอนักเรียนทุกวัน เจอผู้อำนวยการโรงเรียนคือการเรียนรู้ทุกวัน อีก 20% การมาร่วมแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ครูระหว่างโรงเรียน ผ่าน Workshop หรืองานสัมมนา จะทำให้การเรียนรู้กว้างขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์ ส่วนอีก 10% เป็นการเรียนต่อ ลงคอร์ส ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
การกระทำของครูที่ส่งผลต่อผู้เรียนที่สุดคือการให้ Feedback ข้อมูลจากงานวิจัย Meta Study Sementice Review โดยเฉพาะปัจจุบันเด็กๆ ไม่ชอบคะแนนกับเกรด การที่สามารถให้ Feedback รายบุคคลได้เป็นสิ่งที่ครูควรทำ ปัญหาคือครูจำนวนมากมีผู้เรียนเยอะ ซึ่งเทคโนโลยีเขาจะเข้ามาช่วยได้ เขาลดระยะเวลาตรงนี้ได้เยอะ ในการให้ Feedback ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกณฑ์อัตโนมัติ หรือแม้กระทั่ง AI เขาสามารถช่วยครูได้หลายอย่าง
ความไวของ AI หรือจะสู้ความใส่ใจที่ครูมีให้ศิษย์
เรื่องของเทคโนโลยีเราปฏิเสธไม่ได้ เราเป็นคนใช้เทคโนโลยี เราต้องมีสติ อย่าให้เขามาทำให้ไขว้เขว เขาฉลาดมาก ครูยังเป็นวิชาชีพที่เทคโนโลยีเข้ามาสั่นคลอนไม่ได้ ในหลายมิติ เพราะว่าความสัมพันธ์ของครูกับเด็ก เทคโนโลยีก็ช่วยไม่ได้ บางครั้งการแก้ปัญหาครูต้องสัมผัสกับเด็กด้วยใจถึงใจ สิ่งนี้ทำให้ครูชนะ AI
เทคโนโลยีสำคัญมากและจำเป็นสำหรับการจัดการศึกษา แต่เราต้องเข้าใจว่ามันมีคุณอนันต์และโทษ เราต้องเป็นคนพิจารณาอย่างรอบคอบ จะใช้ประโยชน์อย่างไร อยากให้คนใช้ ใช้อย่างมีสติ จุดไหนที่ควรจะใช้ และส่วนไหนที่ควรใช้ความคิดของเรา
ในฐานะครู สามารถเอาชนะ AI ได้ด้วยความรัก การใกล้ชิด การให้ Feedback ปฏิเสธไม่ได้ที่จะไม่เอาเทคโนโลยี แต่เราจะใช้เขาอย่างไรไม่ให้มาเป็นดาบทิ่มแทงเรา นั้นคือสิ่งที่ควรทำ ต่อไปโลกจะเป็นอย่างไร เราต้องคอยคิด AI จะช่วยเราตรงไหนได้บ้าง ครูต้องมองด้วยจะพัฒนาทักษะของเด็กส่วนไหน ก่อนจะนำ AI เข้ามาใช้
Comments