top of page

อนาคตของการศึกษา นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลก AI

อัปเดตเมื่อ 24 ธ.ค. 2566



วันที่ 7 ตุลาคม 2566 งานเทศกาลการศึกษา FutureEd Fest 2023 มีกิจกรรม Panel Discussion ที่น่าสนใจ เพราะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากเมืองไทยและเมืองนอกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนรู้ Maker Education และทักษะอนาคต ดังรายละเอียดหัวข้อการแลกเปลี่ยนช่วงที่ 1

“อนาคตของการศึกษา : นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลก AI”

โดยมีผู้ร่วมได้แก่ ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education / คุณพงษ์ระพี เตชพาหพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันศิลปะปัญญาประดิษฐ์ดาวินชี / และ Mrs. Raman Sidhu CEO Octava Foundation ชวนพูดคุย โดย คุณมาร์ค คอกซ์ Volunteer and Advisor for Starfish Education Foundation

คำถามที่ 1: อนาคตของการศึกษา จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการสอนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คิดว่าแนวโน้มการใช้ AI ในการด้านของการปรับปรุงเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้นจะเป็นอย่างไร


ดร.นรรธพร : งานการศึกษา หรือ AI เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา อยากให้มองว่าการใช้ AI ในมุมของการศึกษาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

1) การใช้ AI ในการบริหารการศึกษา เพราะคำว่า AI และเทคโนโลยีมีความใกล้เคียงกันมาก หลายๆ เทคโนโลยีมีการใช้ AI เข้ามาช่วย เช่น งานในบริหารโรงเรียน สิ่งสำคัญ คือ เราจะใช้ AI อย่างไรบ้างที่จะช่วยให้เราสะดวกขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกห้องเรียนจะต้องมี AI

2) รู้ว่า AI จะช่วยในงานของเราอย่างไร เพราะสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า คือ การที่ไม่รู้ว่าจะใช้ AI อย่างไร เราอาจจะไม่ต้องถาม เราจะต้องใช้ AI หรือไม่ แต่ต้องกลับไปที่เป้าหมายของห้องเรียนว่าคือออะไร และจะใช้ AI ในการช่วยอำนวยความสะดวกในห้องเรียนอย่างไร เช่น การใช้ AI เข้ามาปรับใช้ในการเก็บข้อมูลต่างๆ ของนักเรียน การพัฒนาครู การติดตามต่างๆ และการช่วยผู้เรียนเฉพาะบุุคคล หรือการประเมินผู้เรียน

สรุป สิ่งสำคัญที่สุดของการนำ AI มาใช้ในห้องเรียนหรือโรงเรียน คือ การรู้ว่างานของเราคืออะไร แล้วเลือกใช้ AI ให้ถูกต้อง


คุณพงษ์ระพี : UNESCO ได้สร้างคู่มือ ChatGPT เพราะเขาสนับสนุนการใช้ AI และส่งเสริมการใช้ AI แบบ Socratic method คือการตั้งคำถามและให้ AI ตอบไปเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้มี AI ที่เป็นกูรู ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้แบบ personalize learning ที่ไม่ต้องอยู่ในห้องเรียน และ AI generative ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เราได้ด้วย และเมื่อนำมาบวกกับ Maker คือการมีแรงบันดาลใจในการลงมือทำต่างๆ จะทำให้นวัตกรรมก้าวหน้าไปมากขึ้น


คุณ Raman Sidhu : AI จะช่วยเรื่องการสนับสนุนทรัพยากรและวัตถุดิบต่างๆ สำหรับคุณครูที่จะสอนนักเรียน 30-40 คนได้ เพื่อการสร้างห้องเรียนที่ดีขึ้น และสร้างคุณภาพผู้เรียนที่ดีขึ้น



คำถามที่ 2: การเตรียมความพร้อมด้านการงานและสายอาชีพด้วย AI เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้เชื่อมโยงกับการศึกษาอย่างไรบ้าง


คุณพงษ์ระพี : การเรียนรู้ตลอดชีวิตสำคัญมาก เพราะต้อง Upskill ตลอดเวลา AI เป็นตัวที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงและจะส่งผลต่อโลกไปอีกระยะหนึ่ง คนที่สูญเสียงานก็มี งานที่เพิ่มขึ้นก็จะมีเช่นกัน แต่สิ่งที่สำคัญที่ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการงานคือ ความเป็น Productivity เช่น เรามีงาน 1 ชิ้น เมื่อก่อนเราใช้เวลา 7 วันในการทำงานนี้ให้เสร็จ แต่ในวันที่ AI เข้ามาช่วย เขาอาจจะทำงานชิ้นนี้ในครึ่งวัน ถ้าเป็นบริษัทจะให้ความสำคัญกับคนประเภทที่มี Productivity ที่ดีกว่า และต้นทุนต่ำกว่า ซึ่งจะอยู่ในตลาดได้ดีกว่า AI ช่วยเรื่องนี้ได้ชัด เราต้องทำให้เด็กเรียนรู้ว่าการศึกษาไม่จบในห้องเรียน ต้องทำให้นักเรียนเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น AI ไม่ได้มาแทนคน แต่คนที่ใช้ AI เป็นจะเข้ามาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็น ไม่ต้องกลัวว่า AI จะคุกคาม เพราะทักษะของอาชีพต่างๆ จะถูกเพิ่มขีดจำกัดขึ้นตาม AI ซึ่งมันเกี่ยวข้องกันหมดระหว่างการใช้แรงงานและการศึกษา เราจึงต้อง Upskill Reskill และเรียนรู้ตลอดชีวิต


คุณ Raman Sidhu : เรารู้แน่นอนว่าเราเข้าสู่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม แต่เราคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วแค่ไหน จึงเป็นเรื่องที่คนในวงการการศึกษาต้องมีความคล่องตัว และใช้ AI เพื่อให้เด็กมีประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้เหตุผลต่างๆ และสิ่งสำคัญมากคือ ครูและนักเรียนต้องเป็นคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิต


ดร.นรรธพร : มองว่าเราจะต้องเปิดมุมมองด้านอาชีพมากขึ้น และต้องกลับมาสนใจที่การฝึกทักษะและสมรรถนะ เพราะนอกจากมองว่านักเรียนจะเรียนคณะอะไร แต่ต้องมองด้วยว่า ‘เรียนคณะนี้จะได้ทักษะอะไร’ ที่จะช่วยให้เขาสามารถนำไปต่อยอดกับงานอื่นๆ ได้บ้าง อันหนึ่งที่จะต้องรู้ คือ เทรนด์ของอาชีพในอนาคตมีอะไรบ้าง เพราะหากโลกมีความต้องการทักษะนี้ เราจะได้รู้ว่าต้องพัฒนาทักษะอย่างไร

เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญมาก และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้เกิดเป็นเส้นตรง แต่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเป็นวงจรต่อยอดการเรียนรู้ AI อาจมาแทนที่บางอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพูดเสมอคือ เราต้องรู้ว่าการใช้ AI มีความลำเอียง (อคติ) อะไรบ้าง เพราะ AI ถูกฝึกมาด้วย data บางอย่าง หรือคนบางคน เพราะฉะนั้น ใครเป็นคนเทรนด์ AI เราจะต้องระวังว่าความจริงที่ได้จาก AI มีมากน้อยแค่ไหน และเราต้องสอนเด็กเรื่องนี้ด้วย และต้องฝากเรื่อง Human Skill เราต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้นควบคู่กับการใช้ AI ด้วย เพราะเราจะสามารถสู้กับ AIได้ในอนาคต


กิจกรรม Panel Discussion ช่วงที่ 1 ในหัวข้อ “อนาคตของการศึกษา : นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงในโลก AI” ช่วยเปิดมุมมองให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะอยู่ร่วมและใช้ AI เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น






ดู 27 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page