ฝึกผู้เรียนและตนเองให้ใช้ชีวิตท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเตรียมทักษะในอนาคตให้พร้อมกับหัวข้อ EduInnovate - Crafting the Future of Learning: สร้างอนาคตของการเรียนรู้ วันนี้ Starfish Labz ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนักวิชาการและผู้บริหาร
1. ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร CEO Starfish Education
2. Mr. Melvin T Magsayo Executive Director Center for Integrated STEM Education (CISTEM) Philippines และ
3.คุณทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัยด้านนโยบายการปฏิรูปการศึกษา มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
มาร่วมหาคำตอบ และรับแนวทางตั้งรับกับอนาคต พร้อมไอเดียดีๆ ผ่านบทความนี้ไปด้วยกัน
การศึกษาในอนาคตจะเป็นอย่างไร?
การศึกษาจะเป็นอย่างไร ต้องมองที่สิ่งไหนจำเป็นสำหรับโลกของการทำงาน รวมถึงเป้าหมายส่วนตัว ปกติเรามักจะได้ยิน Technical Skills สกิลเฉพาะเจาะจง และ Soft Skills ความฉลาดทางอารมณ์ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะทางสังคมสิ่งเหล่านี้ทุกคนควรมีในยุคปัจจุบันเพราะเป็นพื้นฐานต่อยอดให้กับชีวิต
การเรียนการสอนถึงเวลาต้องเปลี่ยน ถ้านักเรียนแค่นั่งฟัง และทำตามครู การพัฒนาเขาจะมีข้อจำกัด ทักษะจะไม่ไปไหน ดังนั้นจงทำให้เด็กมีทักษะหลากหลายปล่อยให้เขามีอิสระ ทำในสิ่งที่อยากทำ เช่น การจัด Makerspace พื้นที่สร้างสรรค์ ปล่อยให้นักเรียนได้ทำผิดพลาด ถ้าเขาไม่เคยแพ้ เขาจะไม่มีสกิลในการล้มลุก ต้องให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง สัมผัสถึงความผิดพลาด
ถ้าเราเข้าใจการเปลี่ยนแปลง เราจะสามารถหาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาสกิลให้กับผู้เรียน การเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่ดีที่สุดคือการโฟกัส ณ ปัจจุบัน อย่างเทรนด์ตอนนี้ AI ดังนั้นเราต้องเตรียมให้เด็กมีสกิลในการใช้ AI ให้เขามีความรับผิดชอบในการใช้
ติดปีกทักษะ ไม่หวาดหวั่นอนาคต
สกิลที่นักเรียนควรพัฒนาสกิลการปรับตัวให้เขาปรับตัวในทุกการเปลี่ยนแปลงและการเอาความรู้ที่มี มาปรับใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงรวมถึงการมีทัศนคติในการเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตไม่หยุดเรียนรู้เปิดรับทุก การเรียนรู้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
การเรียนในชั้นเรียน ควรปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียนในแต่ละระดับ ให้เด็กเขาได้สนุก เนื้อหาเริ่มจากง่ายไปยาก และนักเรียนต้องมีส่วนร่วม ได้ตอบคำถาม ได้เรียนรู้สิ่งที่เขาอยากจะเรียน การเรียนในชั้นเรียนควรเชื่อมโยงกับสถานการณ์จริง ๆ ในปัจจุบัน เล่าถึงกรณีศึกษาจากชีวิตจริง ให้นักเรียนสามารถเห็นภาพ
สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้
เราต้องทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยในการที่จะกล้าทำผิด ให้เขามองว่าการทำผิดเป็นโอกาสในการเรียนรู้ และหาวิธีคิดจะทำอย่างไรให้ครั้งถัดไปไม่เกิดสิ่งนี้อีก นี่แหละคือการเรียนรู้
นอกจากสนับสนุนนักเรียน เราควรมีการสนับสนุนครู นักการศึกษาเพราะเขาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ การเรียนการสอนจะไม่เกิด ถ้าไม่มีครูผู้ยอมเสียสละ หากผู้บริหารให้ความสำคัญกับครูเขาจะรู้สึกได้ถึงการสนับสนุน ส่งผลให้มีกำลังใจในการไปแนะแนวทางเด็กต่อไป
ถ้าอยากสร้างห้องเรียนที่สนุก อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ควรหันหน้ามาคุยกันจะทำอย่างไรดี เราต้องเปลี่ยนระบบในโรงเรียนตามสภาพแวดล้อม และดูถึงความต้องการของเด็ก เพราะบริบทแต่ละที่ไม่เหมือนกัน ครูแต่ละท่านประสบการณ์ต่างกัน ดังนั้นควรมีการอบรมที่แบ่งตามกลุ่ม ออกแบบเนื้อหาให้เหมาะสม
นวัตกรรมใหม่ ๆ เริ่มที่ Mindset
ถ้าเราจะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้น สิ่งสำคัญต้องมีนวัตกร Mindset ความคิดที่อยากจะสร้าง ถ้าไม่มียากมากที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องกล้าที่จะเสี่ยง พร้อมที่จะลุย ไม่กลัวความผิดพลาด พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และต้องเรียนรู้ที่จะทำงานกับผู้คน เราต้องมี Partner ทุกฝ่ายสำคัญมากเราต้องทำงานด้วยกันเพื่อให้เกิดนวัตกรรมชิ้นสำคัญ
การจะสร้างอนาคตของการเรียนรู้ สามารถเกิดขึ้นได้โดยให้สิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนสอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในโรงเรียนสนับสนุนครู ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ เมื่อเกิดการทำงานด้วยกัน แชร์ข้อมูล ครูได้รับการซัพพอร์ต นักเรียนได้เรียนสิ่งที่เขาสงสัย จุดนี้จะสร้างพลังการเรียนรู้อย่างมหาศาล
Comments