top of page
รูปภาพนักเขียนFutureEd Fest

ดนตรีกับการสอนอิงลิช! เมื่อจังหวะทำให้นักเรียนเอ็นจอย



การสอนภาษาอังกฤษถือว่ามีความยากกว่าวิชาอื่น ๆ เป็นอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของคุณครูทั่วโลก เนื่องจากเป็นภาษาที่สอง ไม่ใช่ภาษาหลักที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็ก ๆ ในแต่ละประเทศไม่เกิดความคุ้นชิน ต้องอาศัยการท่องจำ แต่การท่องจำนั้นก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ใช้ภาษาอังกฤษได้เทียบเท่ากับเจ้าของภาษา ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีการสอนต่าง ๆ ที่น่าสนใจเข้ามาช่วย มีทั้งเจ้าของภาษาออกมาแนะนำวิธีการสอนผ่านสื่อออนไลน์ มีผู้ที่จบด้านภาษาโดยตรงทำงานวิจัยตีพิมพ์อย่างแพร่หลาย เพื่อเป็นแนวทางให้คุณครูในยุคปัจจุบัน และรุ่นถัดไปได้นำไปใช้


หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพคือ “การใช้ดนตรี” เพราะนอกจากจะมีส่วนช่วยในการบำบัดจิตใจแล้ว ดนตรียังมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้อีกด้วย ดนตรีจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนของนักเรียนตั้งแต่ปฐมวัย บูรณาการใช้กับวิชาต่าง ๆ โดยเฉพาะในการเรียนวิชาภาษา เช่น วิชาภาษาไทย มีบทเพลง ก-ฮ และวิชาภาษาอังกฤษ มีบทเพลง A-Z ที่เราต่างก็ถูกสอนให้จดจำตัวอักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษเป็นชุดเพลงเช่นเดียวกัน


บทความนี้จึงจะนำเสนอถึงวิธีการสร้างรูปแบบกิจกรรมในชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษโดยใช้ดนตรีมาช่วย ซึ่งใช้หลักการการทำเป็นกิจวัตรประจำวัน (Routine Activities) โดยมุ่งเน้นไปที่การทำซ้ำ ๆ ให้นักเรียนเรียนรู้ผ่านการกระทำ จนสามารถเข้าใจได้โดยอัตโนมัติ และคุ้นชินกับภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี



ตัวอย่างวิธีการสร้างกิจกรรมในชั้นเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

ที่บูรณาการโดยใช้ดนตรี


1. การใช้เสียงสูงและเสียงต่ำขณะพูดคำศัพท์

กิจกรรมนี้คุณครูสามารถทำท่าทาง หรือใช้รูปภาพเป็นสื่อได้ เช่น แสดงรูปภาพสิ่งของขนาดใหญ่ให้พูดคำศัพท์โดยใช้เสียงสูง แสดงรูปภาพสิ่งของขนาดเล็กให้พูดคำศัพท์โดยใช้เสียงต่ำ เมื่อนักเรียนได้ฟังความแตกต่างของเสียงก็จะเกิดความสนุก พร้อมกับออกเสียงได้โดยเลียนแบบคุณครู ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับกิจกรรม สามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น


2. การใช้เสียงปรบมือ

สามารถออกแบบกิจกรรมเพื่อให้นักเรียนเข้าใจตัวเลขได้ เช่น ปรบมือ 1 ครั้ง พร้อมกับออกเสียง One ปรบมือ 2 ครั้ง พร้อมกับออกเสียง Two ทำในชั้นเรียนบ่อย ๆ จนนักเรียนเริ่มคุ้นชิน และมีพื้นฐานในตัวเลข สามารถใช้เครื่องดนตรีมาช่วยได้ เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน เช่น กลอง หรือเครื่องให้จังหวะต่าง ๆ อย่างแทมบูลีน


3. ขยับร่างกายเคลื่อนย้ายตามเสียงเพลง

เน้นใช้เพลงที่มีคำศัพท์เยอะ ๆ หรือใช้นิทานที่ดัดแปลงเป็นเพลง และให้เด็ก ๆ ทำท่าทางตามคำศัพท์ในเพลง เช่น กิน ให้เขาแสดงถึงการกิน เดิน ก็ให้เดิน นั่ง ให้ลองนั่ง ซึ่งคุณครูควรแสดงตัวอย่างให้นักเรียนดู หรือเปิดวิดีโอสอดแทรกระหว่างการสอนด้วย เพื่อให้เขาจดจำผ่านรูปภาพและเสียง เด็กหลาย ๆ คนจะสามารถร้องตามได้ และซึมซับไปในที่สุด


4. จับคู่ผลัดกันทายคำศัพท์ผ่านการร้องเพลง

ให้นักเรียนจับคู่กัน โดยนักเรียน 1 คู่ ทั้งสองต้องผลัดกันร้องเพลง เช่น เพลง กริยา Walk Sleep Eat พร้อมแสดงท่าทาง ส่วนอีกฝ่ายต้องทายคำศัพท์ที่เห็นจากท่าทางนั้น เพื่อเป็นการทบทวนว่าเข้าใจกันและกัน โดยกิจกรรมนี้จะทำพร้อมกันทั้งห้อง เพื่อคุณครูจะได้ช่วยตรวจสอบความเข้าใจของนักเรียนด้วย


5. ปรับสปีดการพูดเร็ว-ช้าเพื่อฝึกการโฟกัส

หากคุณครูพูดคำศัพท์เร็ว นักเรียนก็ต้องพูดเร็วตาม และเมื่อคุณครูพูดคำศัพท์ช้า นักเรียนก็ต้องพูดช้าตาม หรือสลับกันโดยให้คุณครูพูดเร็วและนักเรียนพูดช้า


อย่างไรก็ตาม การบูรณาการใช้ดนตรีกับการเรียนการสอนไม่ได้หมายถึงการใช้เสียงดนตรีจากเพลงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเสียงที่เกิดจากการใช้อุปกรณ์อื่น ๆ และเสียงที่เกิดจากจังหวะการพูด อีกทั้งควรเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกายเข้ามาในกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) ไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งแต่ละกิจกรรมคุณครูสามารถปรับใช้ให้เหมาะกับนักเรียนในแต่ละช่วงวัยได้ โดยเพิ่มความยากง่าย และความซับซ้อน เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงกิจกรรม มีความรู้สึกอินกับกิจกรรมมากยิ่งขึ้นไปอีก




Sources: 

ดู 67 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page